f
title
แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 3
Chiangmai3 Highway District
วิสัยทัศน์ : พัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ควบคู่การบำรุงรักษาทางหลวง
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์
ลงวันที่ 15/01/2562

พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์ “King Naresuan Stupa”

          ตั้งอยู่ทางหลวงหมายเลข 1178 ที่กม.4+000 ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานว่าครั้งหนึ่งพระนเรศวรมหาราชเคยเสด็จมาประทับแรม ณ เมืองงายแห่งนี้ ก่อนจะกรีฑาทัพต่อไปยังเมืองอังวะของพม่า เป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม ที่ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ละด้านของฐานเป็นแผ่นศิลาสลักเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติและประวัติการสร้างพระสถูป ด้านหลังเป็นค่ายหลวงจำลอง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา

ประวัติการสร้างพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์

          โดยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถ ได้กอบกู้เอกราชของชาติไทยในครั้งอดีต ทั้งทรงมีพระบุญญาบารมี พระเดชานุภาพแผ่ไพศาลเป็นที่หวาดหวั่นและเกรงขามแก่ข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั้งปวงในจังหวัดต่างๆ  ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่พระองค์ได้ทรงมีบทบาทในการกรีฑาทัพไปปราบปรามศัตรูต่างได้จัดสร้างอนุสาวรีย์หรือสิ่งอนุสรณ์เป็นการยกย่องเทิดทูนพระเกียรติ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ถวายความจงรักภัคดี บำเพ็ญการกุศลบวงสรวงพระวิญญาณของพระองค์ตลอดมา

          สำหรับชาวเชียงใหม่ได้ระลึกอยู่เสมอว่า การที่พวกเราได้อยู่อย่างเป็นสุขจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงมีเมตตาต่อชาติไทย จึงไม่เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะได้ร่วมกันสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ขึ้น เนื่องจากบริเวณบ้านเมืองงาย ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว เป็นสถานที่ที่พระองค์ได้ทรงยังทัพตั้งค่าย เป็นการเตรียมตัวเข้าโจมตีขับไล่อริราชศัตรู โดยมีหลักฐานปรากฏชัดจากไม้รั้วค่ายซึ่งยังมีอยู่มากในบริเวณนั้น  ประกอบด้วยพระสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่นอกเขตไทยได้ชำรุดทรุดโทรมและถูกทำลายไป จึงควรจะได้สร้างขึ้นในที่แห่งนี้แทนพระเจดีย์องค์ที่ได้สูญเสียไปนั้น

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2508 ณ ที่แห่งนี้ และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม  2511 ได้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายศิลาฤกษ์และแผ่นอิฐซึ่งได้มาจากพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐาน ณ เมืองหาง รัฐไทยใหญ่ สหภาพพม่า ก่อนถูกทำลาย

          นอกจากนั้นในวันที่ 25 มกราคม 2512 ได้เสด็จฯมาเป็นประธานในพระราชพิธีพุทธาภิเษก ณ วันพระสิงห์วรวิหารฯ เพื่อทรงเททองเป็นปฐมฤกษ์ ด้วยพระบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ ประชาชนได้ร่วมพิธีและเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างล้นหลาม และประชาชนได้มาสั่งจองพระบูชาฯพระเครื่องและสิ่งก่อสร้างขึ้นในคราวนี้จนหมด สามารถมีทุนเพียงพอในการที่จะนำไปก่อสร้างพระสถูปเจดีย์และพระอนุสาวรีย์ ต่อมาเมื่อวันที่  19 พฤศจิกายน 2513 ทางจังหวัดได้เรียนเชิญ พลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรี ไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์บรรจุแผ่นอิฐและบรรจุพระกริ่ง พระเครื่อง ไว้ในองค์พระสถูปเจดีย์ในงานนี้ประชาชนได้เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้านำแก้วแหวนเงินทองและสิ่งมีค่าอื่นๆมาสมทบบรรจุไว้ในองค์พระสถูปนี้อย่างมากมาย และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2513 จังหวัดได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่ออัญเชิญเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสรณ์และพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์  ซึ่งได้โปรดเกล้าฯเสด็จฯ  ในวันที่ 12 มกราคม 2514

          ด้วยเดชาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอันมีพระสยามเทวาธิราชเป็นอาทิ ขอพระวิญญาณของพระองค์ซึ่งไม่ว่าทิพยวิมานชั้นฟ้าใดๆ ขอได้โปรดทรงรับรู้ในความยึดมั่นกตัญญู จงรักภักดี ของบรรดาชาวไทยทั้งมวลอันมีต่อพระองค์ท่านอย่างไม่มีเสื่อมคลาย และพวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอปฏิญาณต่อดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธ์ว่าพวกเราพร้อมที่จะเจริญรอยตามพระยุคลบาท ในอันที่จะรักษาผืนแผ่นดินไทย ทุกกระเบียดนิ้วซึ่งพระองค์ได้พระราชทานไว้แก่คนทั้งมวล ให้ยืนยงคงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

          ซึ่งจะมีประชาชนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะองค์พระสถูปเจดีย์ฯอยู่เสมอและรอบๆ บริเวณสถูปพระเจดีย์จะมีบรรดาไก่ที่เป็นปูนปั้นตั้งอยู่เต็มบริเวณ  เพราะส่วนใหญ่ผู้คนที่มากราบไหว้มักจะนำไก่มาถวายท่าน  ด้วยเชื่อว่าพระองค์รักการชนไก่ และด้านหลังพระสถูปเจดีย์ฯจะเป็นที่ตั้งของ “ค่ายหลวงที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (จำลอง) ที่ทางกรมศิลปากรจัดสร้างขึ้น ซึ่งภายในค่ายจำลองมีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมเด็จพระเอกาทศรถ  และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา  ประดิษฐานอยู่ให้กราบไหว้

การเดินทาง

-  เดินทางโดยรถยนต์นั่งส่วนตัว

-  ใช้เส้นทางหลวง 107 จาก อ.เมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว และซ้ายที่เมืองงายเวียงแหง 1722 ระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

          เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

          ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมสถานที่


'